CMRU LIBRARY RECOMMENDATIONS ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566

27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โดย จิตรดา หมั่นขีด

          CMRU Library Recommendations ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 มาใน Theme ของสึนามิ เนื่องจากในวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุก ๆ ปีเป็นวันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก (World Tsunami Awareness Day) ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าภัยจากสึนามิมีผลกระทบอย่างร้ายแรงและเป็นผลกระทบวงกว้างที่ทำให้เกิดความเสียหาย  
          หากมองย้อนไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยต้องประสบกับความสูญเสียครั้งรุนแรง จากคลื่นยักษ์หายนะพัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล เรียกได้ว่าแม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี แต่ผู้คนก็ไม่อาจลบเลือนเรื่องราวในครั้งนั้นได้ ทั้งตัวบุคคลและภาคองค์ต่าง ๆ ก็ยังคงให้ความสนใจ และมีการนำเรื่องราวของสึนามินำไปศึกษาต่อในมิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจ 
          ดังนั้นทางทีมงานของเราจึงอยากจะแนะนำความรู้เกี่ยวกับสึนามิในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุการเกิด วิธีการเอาตัวรอด ผลกระทบต่าง ๆ ดังตัวอย่างที่จะแนะนำต่อไปนี้ค่ะ

ชื่อเรื่อง : นางฟ้าสึนามิ
Link OPAC : https://opac.cmru.ac.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00080606
ผู้แนะนำ : นางสาวชุติมา คำสอน
          การบอกเล่าเรื่องราวของผู้ประสบภัยที่รอดชีวิต ชาวบ้าน กู้ภัย อาสาสมัคร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เป็นโศกนาฏกรรมที่มากกว่าคำว่าสูญเสีย เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุก ๆ ด้าน จากน้ำใจและความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนที่พร้อมจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อจุดมุ่งเดียวกัน นั่นก็คือ อยากให้ทุกคนได้กลับบ้าน สนใจอ่านเรื่องราวดี ๆ นี้ ได้ที่ สำนักหอสมุด ชั้น 3 และห้องสมุดศูนย์แม่ริม 1 ค่ะ

ชื่อเรื่อง : รู้แล้วรอด คู่มือเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ
Link OPAC : https://opac.cmru.ac.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00121031
ผู้แนะนำ : นางสาวชุติมา คำสอน
          หลายคนคงนึกภาพไม่ออกใช่ไหมคะ ว่าหากเกิดภัยพิบัติในเรื่องที่ไกลตัวเรามาก ๆ เราควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้สามารถเอาชีวิตรอดได้ ซึ่งถ้าเราทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตน ก็จะทำให้เราสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ดีกว่าแน่นอน โดยในหนังสือ “รู้แล้วรอด คู่มือเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ” ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติ ตัวอย่างของผู้ที่รอดชีวิต นวัตกรรมการรับมือและเอาตัวรอด รวมไปถึงหลักการปฐมพยาบาลผู้ป่วย ของภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ อัคคีภัย ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว วาตภัย อุทกภัย ลมสุริยะ อุกกาบาต โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมไปถึงการเกิดเหตุการณ์สึนามิ หากสนใจศึกษาคู่มือการเอาตัวรอดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่ สำนักหอสมุด ชั้น 3 และห้องสมุดศูนย์แม่ริม 2

ชื่อเรื่อง : คลื่นยักษ์สึนามิ คลื่นอภิมหาภัย
CU e-Library : https://elibrary-cmrucu.cu-elibrary.com/free/ebook/detail/3918b4e6-471d-4e1e-9013-9c2055cae442
ผู้แนะนำ : นางสาวจิตรดา หมั่นขีด และนางสาวสุรดา ปฐวีวิจิตร
          Ebook เล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวคลื่นยักษ์สึนามิ ตั้งแต่สาเหตุการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ การเดินทางของคลื่นยักษ์สึนามิ การเอาตัวรอดเมื่อเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ รวมไปถึงความรู้ของคำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ

ชื่อเรื่อง : Tsunami Impacts
GALE EBOOK : https://link.gale.com/apps/doc/CX3233900230/GVRL?u=thcmru&sid=bookmark-GVRL&xid=3d717cbe
From : Environmental Science: In Context (Vol. 2.)
เงื่อนไข : เข้าผ่าน Wi-Fi ของมหาวิทยาลัยหรือเข้าผ่าน SSL-VPN สามารถดูคู่มือได้ที่ http://www.lib.cmru.ac.th/web62/core/FILE/1551088238.pdf
ผู้แนะนำ : นางสาวจิตรดา หมั่นขีด และนางสาวสุรดา ปฐวีวิจิตร
          Ebook เล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งมีการกล่าวตั้งแต่สาเหตุของการเกิด ที่มาของชื่อ รวมไปถึงลักษณะของคลื่นสึนามิ  นอกจากนี้มีการกล่าวถึงประวัติของการเกิดคลื่นสึนามิในอดีต ผลกระทบและประเด็นปัญหาจากคลื่นสึนามิ

ชื่อเรื่อง : สึนามิ: แรงสั่นสะเทือนต่อโลกทัศน์เรื่องความตายในเรื่องสั้นไทย
ชื่อวารสาร : วารสารไทยศึกษา
Link Online : https://so04.tci-thaijo.org/index.php/TSDJ/article/view/263955
ผู้แนะนำ : นางสาววรัฏฐา กัวตระกูล
          เรื่อง สึนามิ : แรงสั่นสะเทือนต่อโลกทัศน์เรื่องความตายในเรื่องสั้นไทย เป็นบทความวิจัยที่ศึกษาเรื่องความตายที่ปรากฏในเรื่องสั้นที่เล่าถึงเหตุการณ์สึนามิโดยพิจารณาจากการนำเสนอภาพแทนความตายจากสึนามิ จากหนังสือรวมเรื่องสั้น จำนวน 2 เล่ม ได้แก่ รวมเรื่องสั้น "เปลือก" ของจิรภัทร อังศุมาลี  และ " ธรรมชาติของการตาย" รวมเรื่องสั้นที่เล่าถึงสึนามิของนักเขียนร่วมสมัย ๑๔ คน  ซึ่งหนังสือรวมเรื่องสั้นทั้งสองเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิโดยตรงและมีวัตถุประสงค์ในการตีพิมพ์รวมเล่มเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิ

ชื่อเรื่อง : หน้าที่ของอารมณ์ขันในปริจเฉทเรื่องเล่าความทรงจำ เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในประเทศไทย
ชื่อวารสาร : The Journal of Arts and Thai Studies (ARTS)
Link Online : https://so08.tci-thaijo.org/index.php/artssu/article/view/108 
ผู้แนะนำ : นางสาววรัฏฐา กัวตระกูล
          เรื่อง หน้าที่ของอารมณ์ขันในปริจเฉทเรื่องเล่าความทรงจำ เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในประเทศไทย เป็นบทความที่ศึกษาและวิเคราะห์หน้าที่ของอารมณ์ขันในบริบทของสถานการณ์การสื่อสารเดียวกัน ในเรื่องเล่าความทรงจำเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลมาจากการบันทึกเสียงการเล่าเรื่องการประสบภัยพิบัติของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย จำนวน 60 เรื่อง

ชื่อเรื่อง : The Impossible 2004 สึนามิ ภูเก็ต
Location : บริการยืม - คืน สื่อโสตทัศน์ ชั้น 7 สำนักหอสมุด 
ผู้แนะนำ : นายสุทัศน์ เขียวนิล
          จากภัยพิบัติที่โลกไม่มีวันลืม “2004 สีนามิ ภูเก็ต” (THE IMPOSSIBLE) ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง ถ่ายทำที่สถานที่จริง จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เรื่องราวสุดเหลือเชื่อของ มาเรีย และ เฮนรี่ และลูกชายทั้งสามคน ที่เดินทางมาพักผ่อนที่ประเทศไทย ต้องประสบภัยพิบัติที่ไม่คาดฝัน จากความสุขได้แปรเปลี่ยนเป็นฝันร้าย มีเพียงหัวใจรักของพวกเขาเท่านั้นที่จะฝ่าวิกฤตครั้งนี้

ชื่อเรื่อง : San Andreas มหาวินาศแผ่นดินแยก 
Link OPAC : https://opac.cmru.ac.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00145256
Location : บริการยืม - คืน สื่อโสตทัศน์ ชั้น 7 สำนักหอสมุด 
ผู้แนะนำ : นายสุทัศน์ เขียวนิล
          หลังจากเกิดเหตุการณ์ San Andreas ที่มีชื่อเสียงจนทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ระดับ 9 ที่แคลิฟอร์เนีย นักบินเฮลิคอปเตอร์ผู้ค้นหาและช่วยชีวิต เรย์มอนด์ เกนส์ กับภรรยาที่ไม่ค่อยลงรอยกัน เอ็มม่า เกนส์ ต้องออกเดินทางจากลอสแองเจลิส ไปจนถึงซานฟรานซิสโกด้วยกันเพื่อช่วยลูกสาวคนเดียวของพวกเขา แต่การเดินทางสู่ทางตอนเหนืออันโหดร้ายของพวกเขาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น พวกเขาคิดว่าเรื่องร้าย ๆ ผ่านพ้นไปแล้ว แต่มันเพิ่งเริ่มต้น

เอกสารอ้างอิง
The Standard. (2566, 28 พฤศจิกายน). 5 พฤศจิกายน 2021 – วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก. https://thestandard.co/onthisday05112021/


สำนักหอสมุด "มุ่งมั่นให้บริการ สร้างสรรค์ความรู้สู่ชุมชน"