CMRU LIBRARY RECOMMENDATIONS ประจำเดือนมีนาคม 2565

4 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดย จิตรดา หมั่นขีด

          เริ่มต้นเดือนมีนาคม ปี 2565 ด้วยเหตุการณ์ที่น่าเศร้าหลาย ๆ อย่างเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความสูญเสีย ซึ่งทางทีมงานขอความแสดงความเสียใจด้วยค่ะ และเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ ส่วนประเด็นที่มาแรงทั่วโลกในตอนนี้ คือ ข่าวเกี่ยวกับสงคราม จะว่าไปแล้วสงครามมีตั้งแต่อดีตเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลก สงครามระหว่างประเทศ ทุกครั้งที่เกิดสงครามจะเกิดความสูญเสียจำนวนมาก ...แน่นอนค่ะว่าไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านของเราได้ความรู้เกี่ยวกับสงครามทางทีมงาน CMRU LIBRARY RECOMMENDATIONS มีทรัพยากรสารสนเทศมานำเสนอเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้เพิ่มเติมกันค่ะ

ชื่อเรื่อง : สมรภูมิหิมะสีเลือด
Title : Blood red snow
Link OPAC : https://opac.cmru.ac.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00154434
ผู้แนะนำ : ภัทราภรณ์ แสงปัญญา

          เรื่องราวของพลทหารกุนเทอร์ เค. โคชอร์เรก ทหารชาวเยอรมันที่ได้ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิสตาลินกราด ซึ่งเป็นแนวรบตะวันออกระหว่างเยอรมันกับโซเวียต ระหว่างที่อยู่ในสมรภูมิรบเขาได้จดบันทึกประจำวัน ซึ่งบันทึกของเขาแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของทหารที่ไปรบ ความยากลำบากในการใช้ชีวิต ความฝัน ความสิ้นหวัง ความเป็นความตาย รวมทั้งแรงกดดันที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะเสียชีวิตเมื่อใด

ชื่อเรื่อง : บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ (ฉบับสมบูรณ์)
Link OPAC : https://opac.cmru.ac.th/catalog/BibItem.aspx?BibID=b00041942
ผู้แนะนำ : ภัทราภรณ์ แสงปัญญา

          สมุดบันทึกเล่มนี้ของ “แอนน์ แฟรงค์” เด็กหญิงชาวเยอรมัน เชื้อสายยิววัย 13 ปี ที่ฝันอยากเป็นนักเขียน เธอและครอบครัวได้หลบซ่อนตัวในห้องลับหลังตู้หนังสือจากกองทัพนาซี และได้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าก่อนที่จะถูกพบตัวแล้วส่งตัวไปยังค่ายมรณะ เรื่องราวในบันทึกเล่มนี้ได้เป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนเสมอถึงความโหดร้ายของสงคราม

ชื่อ eBook : The Cold War : An International History
Book Collection (EBSCOhost) : https://search.ebscohost.com/login.aspx?direct=true&db=nlebk&AN=68075&site=ehost-live
ผู้แนะนำ : จิตรดา หมั่นขีดและสุรดา ปฐวีวิจิตร
          
เมื่อพูดถึงสงคราม หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเย็น ใช่ไหมคะ? ใน eBook เล่มนี้ David Painter ได้วิเคราะห์ความเป็นมา วิถีและการสิ้นสุดของสงครามเย็น โดยมีมุมมองที่เป็นสากล เน้นโลกที่สามในภูมิภาคเอเชียและอเมริกากลาง และมีการวิเคราะห์ประเด็นทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังพูดถึงการกระจายอำนาจทั่วโลก ซึ่งอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1945 - 1990

ชื่อบทความ : World War II
จากสารานุกรม : St. James Encyclopedia of Popular Culture
Gale e-Books : https://link.gale.com/apps/doc/CX2735802998/GVRL?u=thcmru&sid=bookmark-GVRL&xid=57de3eac
ผู้แนะนำ : จิตรดา หมั่นขีดและสุรดา ปฐวีวิจิตร
          
บทความเรื่อง World War II จากสารนุกรม St. James Encyclopedia of Popular Culture มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวอเมริกันในทุกด้าน รวมทั้งวัฒนธรรมสมัยนิยมทุกรูปแบบ ซึ่งอิทธิพลบางส่วนนี้เป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อโดยเจตนาของรัฐบาล จะมีหัวข้ออะไรบ้างนั้น ? สามารถเข้าไปอ่านได้ตาม Link เลยค่ะ

ชื่อบทความ : Are we getting less violent and can we achieve world peace?
ชื่อนิตยสาร : BBC Science Focus ฉบับ Summer 2021
Flipster : https://search.ebscohost.com/login.aspx?direct=true&db=eon&bquery=FT+Y&cli0=EH1&clv0=Y&type=0&searchMode=Standard&site=eon-live
ผู้แนะนำ : จิตรดา หมั่นขีดและสุรดา ปฐวีวิจิตร

          บทความชื่อว่า Are we getting less violent and can we achieve world peace? จากนิตยสาร BBC Science Focus ฉบับ Summer 2021 ภายในบทความ ประกอบด้วย 2 หัวข้อ คือ A Number Games และ Cycle Of Violence มาดูกันค่ะว่าสองหัวข้อนี้มีการพูดถึงความรุนแรงอย่างไรบ้าง ? หากเราใช้ความรุนแรงน้อยลง โลกจะได้รับสันติภาพจริงหรือ ? โดยสามารถอ่านผ่าน Web Application : Flipster ตาม Link ได้เลยค่ะ

 
ชื่อบทความวารสาร : การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียและความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน หลังสงครามรัสเซีย-จอร์เจียในปี 2008
Thaijo : https://so05.tci-thaijo.org/index.php/polscicmujournal/article/view/110838
ผู้แนะนำ : วรัฏฐา กัวตระกูล
          บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศฝั่งตะวันออกเพื่อแสวงหาพันธมิตรในการหลีกเลี่ยงแรงกดดันและมาตรการลงโทษจากตะวันตก รวมถึงสร้างอำนาจใหม่ที่เป็นอิสระจากตะวันตกของประเทศรัสเซียกับฝั่งประเทศตะวันออก ซึ่งเป็นการมุ่งสู่ตะวันออกในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับตะวันตกตกต่ำลงตั้งแต่สงครามจอร์เจียในปี 2008 รวมถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินจากตะวันตก ตลอดจนวิกฤตยูเครนในปี 2015 และการมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียนั้นดูเหมือนจะประสบความสำเร็จกับประเทศจีนมากที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนมีพัฒนาการอย่างไรนั้น สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บทความเรื่อง “การมุ่งสู่ตะวันออกของรัสเซียและความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน หลังสงครามรัสเซีย-จอร์เจียในปี 2008” ของคุณธัญสุดา  เทพกุล ในวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มิถุนายน  พ.ศ. 2561  หน้า 112-139
 
 
ชื่อบทความวารสาร : พัฒนาการด้านการเมืองของยูเครนภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ความชะงักงันของประชาธิปไตยภายใต้ระบบการบริหารคู่
Thaijo : https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jes/article/view/195861?fbclid=IwAR3xmGnNAl0I1FecztswVZiUWztrrbtoPzR_2tv__j7oN365FhvkSmtOV2M 
ผู้แนะนำ : วรัฏฐา กัวตระกูล
          บทความนี้พูดถึงเรื่องพัฒนาการทางการเมืองของยูเครนภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่สะท้อนมรดกทางการบริหารตามแบบจักรวรรดิรัสเซียและอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งเคยปกครองยูเครนและเรื่องของความไม่ลงรอยกันระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี และถึงแม้ว่าภายหลังการปฏิวัติสีส้มจะมีความพยายามปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย แต่ยูเครนยังคงมีรูปแบบการปกครองแบบกึ่งอำนาจนิยม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บทความเรื่อง “พัฒนาการด้านการเมืองของยูเครนภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ความชะงักงันของประชาธิปไตยภายใต้ระบบการบริหารคู่” ของคุณณัฐนันท์ คุณมาศ ในวารสารยุโรปศึกษา ปีที่ 19  ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2554 หน้า 2-25
 
 
ชื่อเรื่อง : การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครน
Title : Winter on Fire: Ukraine’s Fight for Freedom
Location : ชั้น 7 สำนักหอสมุด บริการ Netflix
ผู้แนะนำ : สุทัศน์ เขียวนิล

          ท่ามกลางวิกฤตอันร้อนระอุเมื่อรัสเซียเริ่มเปิดฉากโจมตียูเครนจนความเสียหายลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้นทุกที สารคดีเรื่องนี้ กำกับโดย Evgeny Afineevsky ที่มีฉายทาง Netflix ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง จากการบันทึกเหตุการณ์ "Euromaidan" เวลากว่า 3 เดือนในช่วงฤดูหนาวปี 2013 จนถึงต้นปี 2014 ช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนต่างเดินทางมารวมตัวกันในเมืองเคียฟ จัตุรัสไมดาน เพื่อต่อต้าน วิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนในขณะนั้น ซึ่งอยู่ฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย หลังจากที่เขาหักหลังประชาชนด้วยการไม่เซ็นลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป สารคดีไม่ได้เจาะลึกรายละเอียดในแง่ว่าประเทศใดเป็นฝ่ายได้ฝ่ายเสียจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรปของยูเครน หรือผู้นำคนไหนวางหมากเดินเกมได้ชาญฉลาดอย่างไร แต่เพียงนำเสนอช่วงเวลาในการต่อสู้ของภาคประชาชนที่ออกมาปกป้องอิสรภาพและอนาคตของลูกหลาน เพื่อนร่วมชาติ และประเทศชาติของพวกเขา
 
 
ชื่อเรื่อง : ภาพสีประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สำคัญช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
Title : Greatest Events of WWII in Colour
Location : ชั้น 7 สำนักหอสมุด บริการ Netflix
ผู้แนะนำ : สุทัศน์ เขียวนิล

          ร่วมสัมผัสเหตุการณ์สำคัญช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ สงครามเวหาเหนือน่านฟ้าอังกฤษ การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ยุทธวิธีที่มิดเวย์ ยุทธการที่สตาลินกราด วัน D-Day ยุทธการตอกลิ่ม การทิ้งระเบิดทำลายเมืองเดรสเดิน ค่ายกักกันบูเคินวัลท์ และการทำลายฮิโรชิมา สารคดีที่ได้อัดแน่นด้วยข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจข้อมูลประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างคุ้มค่า

สำนักหอสมุด "มุ่งมั่นให้บริการ สร้างสรรค์ความรู้สู่ชุมชน"