ปีศาจอูบุเมะกับเกมแห่งความตาย

19 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดย จิตรดา หมั่นขีด

         
          
เกมถือเป็นกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อประโยชน์ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ฝึกทักษะเสริมสร้างพัฒนาการ และบางครั้ง เกมก็ใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาได้อีกด้วย แต่ถ้าหากว่าเกมนั้นไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานล่ะ ? หากว่าเกมนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อข่มขู่ ชักจูง และล้างสมอง นำพาให้ผู้เล่นเผชิญหน้ากับอันตราย หรือมากกว่านั้นคือ การนำไปสู่ความตาย ในบทความนี้เราจะพาท่านผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับเกมลึกลับหรือเกมแห่งความตายที่รู้จักกันในชื่อ Momo Challenge ให้มากขึ้นกว่าที่คุณเคยรู้จัก


Mother Bird (kapook, 2562)

Momo Challenge คืออะไร ?
          
Momo Challenge คือเกมการปฏิบัติภารกิจ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากบัญชีหนึ่งในแอปพลิเคชัน Whatsapp ชื่อ Momo ซึ่งบัญชีนี้จะตระเวนแอดไปหาเด็กในช่วงอายุ 12-16 ปี เพื่อมอบหมายภารกิจให้กับเด็กเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีการส่งภาพหญิงสาวหน้าตาน่ากลัวไปให้ พร้อมกับข่มขู่ว่าหากไม่ทำตาม Momo จะตามไปหาที่บ้านและเด็กเหล่านั้นจะต้องพบกับความน่ากลัวไปตลอดชีวิต  เด็ก ๆ จึงต้องทำตามอย่างขัดขืนไม่ได้เพราะความหวาดกลัวนั่นเอง โดย Momo จะมอบภารกิจให้กับผู้เข้าร่วม วันละ 1 ภารกิจ อาจเป็นภารกิจง่าย ๆ เช่น เดินไปหยิบกุญแจไปหยิบดินสอ  เป็นต้น  ซึ่งภารกิจในแต่ละวันจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ วิ่งไปตัดหน้ารถ กระโดดลงน้ำลึก กระโดดลงจากบันไดสูง หรือทำร้ายตัวเอง และภารกิจสุดท้ายคือการท้าให้ผู้เล่นฆ่าตัวตาย! เกมแห่งความตายนี้มีการแพร่ระบาดเมื่อปี 2016 ในประเทศแถบอเมริกาใต้อย่าง เม็กซิโก และเริ่มลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อาร์เจนติน่า บราซิล โคลอมเบีย จนรุกล้ำข้ามทวีปไปยังประเทศยุโรปบางส่วน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และรวมไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกา มีเด็กเสียชีวิตจากการเป็นเหยื่อของ The Momo Challenge แล้ว 5 ราย (อาจมีตัวเลขคลาดเคลื่อน เพราะบางคดีไม่ได้ยืนยันว่าเสียชีวิตจาการทำ Momo Challenge หรือไม่) (KKMTC, 2562)

Momo Challenge กับปีศาจอูบุเมะ
          
เนื่องจากบัญชีที่ชื่อว่า Momo ได้ใช้รูปภาพหญิงสาวรูปร่างประหลาดครึ่งคนครึ่งนก ตาโตเกือบหลุดออกจากเบ้า ทรงผมยาว จมูกใหญ่ ปากยิ้มจนฉีก ที่เพียงแค่มองก็ให้ความรู้สึกไม่สบายใจซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Momo Challenge แต่อย่างใด แต่เพียงเพราะมีการนำภาพรูปปั้นงานศิลปะที่มีชื่อว่า Mother Bird ซึ่งประดิษฐ์โดยศิลปินนาม Keisuke Aisawa ผู้ทำสเปเชียลเอฟเฟกต์ภาพยนตร์สังกัด Link Factory ซึ่งภาพดังกล่าวเผยแพร่ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2016 หรือตรงกับปีที่กำเนิด The Momo Challenge พอดี โดยเจตนาของเขา คือการปั้นรูปโยไค หรือปีศาจในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นชื่อ "อูบุเมะ" (Ubume) อูบุเมะนั้นเป็นปีศาจที่เกิดขึ้นจากดวงวิญญาณผู้หญิงที่ตายหลังจากให้กำเนิดลูกน้อยแล้ว ด้วยความที่ยังโศกเศร้า และห่วงหาลูกของตน ซึ่งนางก็จะเตร็ดเตร่เร่ร่อนอยู่ในบริเวณที่คลอดลูก โดยเฉพาะในวันที่ฟ้ามืด ฝนตก อูบุเมะจะพยายามพาคนที่ยังมีชีวิตไปยังจุดที่นางซ่อนเด็กทารกเอาไว้ เพื่อให้คนเอาลูกของนางไปเลี้ยงต่อไปนั่นเอง (Plook Parenting, 2562)


ปีศาจอูบุเมะ (Muzika, 2562)

          หลังจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตทำให้ Momo Challenge เป็นที่จับตามองจนกลายเป็นภัยร้ายที่ทุกคนต้องเฝ้าระวัง และทำให้ keisuke Aisawa ศิลปินผู้เป็นเจ้าของผลงาน Mother Bird ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นต้นกำเนิดของ Momo Challenge ทั้งที่ความจริงแล้ว เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย Aisawa จึงออกมายืนยันว่า รูปปั้น Mother Bird หรือ Momo ที่หลาย ๆ คนรู้จัก ถูกทำลายทิ้งตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากความเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ปัจจุบันทางตำรวจยังไม่ทราบผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเกม Momo Challenge ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาสืบสวนกันต่อไป

บรรณานุกรม

Plook Parenting. (2562). เปิดที่มา Momo Challenge คืออะไร ทำไมถึงเป็น การ์ตูนสุดอันตราย ที่พ่อเเม่ควรระวัง !. สืบค้นจาก                        https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/71831/-parnewpar?fbclid=IwAR1dOWmFSRhul1S9rDfiJt6nAmhEBCdyERaHwaUdnOcKl1cB2raolOhQmzw.

KKMTC. (2562). รู้จัก The Momo Challenge เกมสั่งตาย ภัยร้ายอินเทอร์เน็ตที่ไม่ควรมองข้าม. สืบค้นจาก https://www.gamingdose.com/feature/-รู้จัก-the-momo-challenge-เกมสั่งตาย-ภัย/?fbclid=IwAR3bMNvFmrZk7d9921gtPEa5dKSt7kRbOnoQMYth7Nho2H9NsO0zZLwGqWw.

Muzika. (2562). เปิดตำนานปีศาจ อูบุเมะ ผีญี่ปุ่น ที่มาของ Momo Challenge ความจริงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด!. สืบค้นจาก https://travel.trueid.net/detail/4qy5ZAmJXx4?fbclid=IwAR3Nl9h-wnk2QI471lBT0ar1es7ZfBhVwBcaWqQ0w5n-cr-doPkJvCX7DB0.

รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลโดย ฐิติลักษณ์ ไผ่กลัด สุภาพัฒน์  นำแปง และจิรัฐิติกาล จักรคำ


สำนักหอสมุด "มุ่งมั่นให้บริการ สร้างสรรค์ความรู้สู่ชุมชน"